สร้างความตระหนักให้เด็กรุ่นใหม่
ใส่ใจการดูแลสุขภาพของตนเอง และคนในครอบครัว

 

มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักให้เด็กรุ่นใหม่ใส่ใจการดูแลสุขภาพของตนเอง และคนในครอบครัว โดยส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ผักผลไม้ แทนอาหาสะดวกซื้อที่หาซื้อได้ง่าย ซึ่งนับวันจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน และเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCD รวมทั้งส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางกายเป็นประจำทุกวัน เพื่อเป็นการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บก่อนต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เพื่อใช้รักษาในอนาคต

นอกจากนี้โครงการยังต้องการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพอนามัยที่ดีของเด็ก เยาวชน ชุมชน และผู้ด้อยโอกาสในชนบท ให้มีโอกาสเข้าถึงบริการการตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐาน เพื่อป้องกัน และได้รับการรักษาอาการเจ็บป่วยได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพส่วนบุคคล และลดการสูญเสียงบประมาณในการรักษาพยาบาลของรัฐบาล

โครงการมอบอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด-19 ให้แก่โรงเรียน

บริษัทฮาร์มเลส ฮาร์เวสท์ (ไทยแลนด์) จำกัด  ภายใต้กองทุนแฟร์ฟอร์ไลฟ์พรีเมี่ยม (Fair for Life Premium Fund) โดยการประสานงานของมูลนิธิ EDF ได้มอบอุปกรณ์ป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้โรงเรียนในจังหวัดนครปฐมและราชบุรี 13 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวัดบางช้างใต้ โรงเรียนบ้านฉาง โรงเรียนบ้านหัวอ่าว โรงเรียนวัดปรีดาราม โรงเรียนบ้านดอนไผ่ โรงเรียนบ้านหนองไก่แก้ว  โรงเรียนบ้านหนองสลิด (อดุลย์ทองแพประชาสรรค์) โรงเรียนวัดท่าเรือ โรงเรียนวัดศรีดาราม โรงเรียนเนกขัมวิทยา โรงเรียนวัดอมรญาติสมาคม (อมรวิทยาคาร) โรงเรียนวัดเนกขัมมาราม และโรงเรียนวัดตาลเรียง (เชยประชานุกูล)

โครงการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีในเด็กและเยาวชน (Young Health Programme)

องค์การแพลน อินเตอร์ชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับแอสตร้าเซนเนก้าโกลบอล และมูลนิธิ EDF จัดอบรมโครงการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีในเด็กและเยาวชน (Young Health Programme) ระยะเวลา 3 วัน แก่อาจารย์ระดับโรงเรียน วิทยาลัยอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิเด็กและการหนุนเสริมกิจกรรมกับเด็กและเยาวชน รอบรู้พฤติกรรมเสี่ยงและความรู้เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs: Non-communicable diseases) (โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคเบาหวานประเภทที่ 2 และ โรคเกี่ยวกับสุขภาพจิต) การลดละเลิกบุหรี่ มลพิษทางอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อป้องกันตัวเองตามระดับความรุนแรงของมลพิษทางอากาศ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นอันตรายรวมถึงการแนวทางการลดและเลิกดื่มได้จริง การเรียนรู้เกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์  ความเสมอภาคระหว่างเพศและบทบาทหญิงชายเกี่ยวกับสุขภาพ หลักการออกกำลังกายและโภชนาการที่ถูกต้อง ทักษะการให้คำปรึกษากับเด็กและเยาวชน และสุขภาพจิตและการมีสุขภาพที่ดี 

โครงการส่งเสริมสุขภาพ สนับสนุนโดยกองทุนแฟร์ ฟอร์ ไลฟ์

ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ฮาร์มเลส ฮาร์เวสท์ (ไทยแลนด์) จำกัด ประกอบด้วยกิจกรรม 4 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการน้ำดื่มสะอาด โดยติดตั้ง และบำรุงรักษาเครื่องกรองน้ำ และมอบถังสำรองน้ำให้แก่โรงเรียนจำนวน 12 แห่ง เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กนักเรียนในโรงเรียนที่ขาดแคลนจะสามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้อย่างทั่วถึง  (2) โครงการตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ ให้แก่ผู้ปกครองของเด็กนักเรียน เกษตรกร และชาวบ้านในชุมชน เพื่อให้เข้าถึงบริการการตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐาน 13 รายการ และสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยได้อย่างทันเวลา ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาอาการเจ็บป่วยของผู้เข้ารับบริการ และประหยัดงบประมาณของรัฐด้านสาธารณสุขได้อีกทางหนึ่ง (3) โครงการทันตกรรมเคลื่อนที่ ให้แก่เด็กนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาในพื้นที่ 2 โรงเรียน (4) โครงการมอบเครื่องแบบนักเรียน โดยมอบรองเท้านักเรียน และถุงเท้าให้แก่เด็กนักเรียนด้อยโอกาส ทั้งนี้ โครงการทั้งหมดดังกล่าวข้างต้นได้ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และราชบุรี โดยมีผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรงรวมทั้งสิ้น 4,574 คน

โครงการ ส่งเสริมสุขภาพเด็กวัยเรียนด้วยการขยับและกินผักผลไม้

ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างความตระหนัก และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กวัยเรียนในกลุ่มเป้าหมายให้รับประทาน ผัก และผลไม้ตามเกณฑ์คำ แนะนำขององค์การอนามัยโลก 2) ลดจำนวนเด็กวัยเรียนที่มีภาวะนํ้าหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน 3) สร้างสภาพแวดล้อมในโรงเรียน/ชุมชนที่เอื้อต่อการเข้าถึง และการบริโภคผัก ผลไม้ปลอดภัย และมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อยวันละ 60 นาที โดยมีโรงเรียนประถมศึกษา และประถมศึกษาขยายโอกาส ที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 50 โรงเรียน ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี จังหวัประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดตรัง จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา และมีเด็กนักเรียนได้รับผลประโยชน์จากโครงการรวมทั้งสิ้น 9,387 คน